Cover set2
23 Jul 2019 00:30

ร่วมกันออกแบบทางออกให้น้ำ ทะเล ป่าและขยะ จากงาน SET SOCIAL IMPACT DAY

กลับมาอีกครั้งกับเวทีนำเสนอแนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม 'SET Sosocial Impact Day' ที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมฟังเพื่อร่วมมือกันนำเสนอทางออกภายใต้แนวคิด ‘Partnership for Impact Co-Creation ออกแบบ ทางออก มหาชน’  โดยหัวข้อที่เราสนใจนำมาเสนอให้ได้อ่านกันคือหัวข้อ ออกแบบทางออกให้น้ำ ทะเล ป่า ขยะ ซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัวที่เราทุกคนสามารถร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ได้

ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี

เสียงเรียกร้องจากป่าสู่เมือง 

เพราะชีวิตผูกพันกับป่า การทำรายการเนวิเกเตอร์ได้พาให้ผู้ชายที่ชื่อ ติ๊ก-เจษฏาภรณ์ ผลดี เข้าสู่การเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติเต็มตัว และในวันนี้ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนมาพูดในสิ่งที่ธรรมชาติพูดไม่ได้ สิ่งที่น่าสนใจที่เราได้ฟังคือทุกวันนี้มีผืนที่ป่าไม้ในไทยเพียง 31% เท่านั้น แน่นอนว่าด้วยเปอร์เซ็นเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นบ้านให้แก่สัตว์ป่าที่มีอยู่ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นทุกปี เรื่องที่น่าห่วงคือลักษณะผืนป่าในตอนนี้มีคล้ายกับเกาะกลางทะเลที่เป็นหย่อม ๆ ไม่มีการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน อีกทั้งเมื่อสังคมโตขึ้น มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเข้าไปเรื่อย ๆ จนตอนนี้ราวกับว่าที่พักอาศัยของคนเปรียบเสมือนทะเลที่ล้อมเกาะเหล่านี้ไว้ ทำให้ส่งผลถึงการคัดเลือกทางพันธุกรรมของสัตว์ป่าที่มีลักษณะด้อยลง โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ที่ทำหน้าที่บุกเบิกพื้นที่อย่าง ช้างป่า

‘โดยธรรมชาติช้างจะทำหน้าที่เดินทางในป่าไปรอบ ๆ เช่นกันกับกระทิง วัวแดง ฯลฯ ทำให้เกิดการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนของธรรมชาติ ช้างตัวผู้ที่มีร่างการแข็งแรง จะทำหน้าที่เป็นพ่อพันธุ์ที่ดีให้แก่ช้างตัวเมียทำให้ลูกที่เกิดมามีลักษณะที่ดีตามไปด้วย แต่เมื่อป่าขาดการเชื่อมโยง ทำให้ช้างเหล่านี้ออกไปไหนไม่ได้ ตัวเมียไม่มีโอกาสได้เลือกคู่ ลูกช้างที่เกิดออกมาก็จะมีลักษณะแคระแกรน’ 

หรือแม้แต่ลิงที่คอยแย่งอาหารเราตามเขา สาเหตุที่เป็นแบบนั้นก็เพราะเราคอยไปให้อาหารพวกมัน จนมันไม่สามารถหาอาหารได้เอง แต่ก่อนลิงจะทำหน้าที่คล้ายกับ พ่อครัว ส่งต่ออาหารให้แก่สัตว์ตัวอื่นได้กินต่อไป หมุนเวียนเป็นวัฏจักรไปเรื่อย จนเมื่อมนุษย์เข้าไปแทรกแซงวัฏจักรนั้น ทำให้การเป็นอยู่ของมันเปลี่ยนไป

สิ่งที่มนุษย์อย่างเราควรทำที่สุดคือเข้าไปสำรวจเพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันแบบไม่ทำลาย เพราะเชื่อว่าองค์ความรู้และเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่สามารถให้คนเข้าถึงธรรมชาติได้อย่างการทำกระเช้าลอยฟ้า เขื่อน อุโมงค์ลอด ที่ใคร ๆ ต่างคัดค้าน สำหรับคุณติ๊กแล้ว การมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการทำลายพื้นที่ป่าไม้ แต่เทคโนโลยีจะทำให้เราได้เข้าถึงป่ากันง่ายขึ้นเท่านั้นเอง

อเล็กซ์ เรนเดล

เติมสีเขียวลงไปในหัวใจเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่

EEC Thailand หรือ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา เป็นโครงการที่นักแสดงหนุ่มอย่าง อเล็กซ์ เรนเดล เป็นผู้ก่อตั้งเพื่อมุ่งหวังในการส่งเสริมให้สังคมมีความรู้ และความเข้าใจต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรทางวัฒนธรรมร่วมกัน ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “สิ่งแวดล้อมศึกษา” โดยคุณอเล็กซ์มีความคิดคล้าย ๆ กับคุณติ๊กเช่นกันว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่จะทำให้คนได้ตระหนักรู้ถึงสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เพียงแค่ educateสมอง ต้องต้องeducateไปถึงหัวใจของเด็กและเยาวชน ซึ่งศูนย์สิ่งแวดล้อมนี้จะเปิดให้ตั้งแต่เด็กเล็กอายุ 6 ปีขึ้นไปได้เข้ามาทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการสอบและรับใบเซอร์เพื่อที่จะสร้างความเป็นผู้นำในด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

‘ ผมเห็นความสำคัญของการศึกษาและผมเห็นว่ามันส่งผลไปถึงแรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจที่จะลุกขึ้นปกป้อง เหมือนที่ตัวเราตอนแรกก็เริ่มโดยที่ไม่มีความรู้อะไร แต่เมื่อยิ่งได้รู้ว่าระบบนิเวศต่าง ๆ มีความเกี่ยวเนื่องกันคล้ายกับธุรกิจที่ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน สิ่งที่เราพยายามจะทำก็คือเป็น  Knowledge platform และต้องการที่จะให้อีอีซีเป็นที่ที่มอบความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้กับองค์กรต่าง ๆ ’



ปกป้องทะเลไทยด้วยการเพิ่มมูลค่าขยะกองโต

หากพูดถึงปิโตรเคมีหลาย ๆ คนอาจจะนึกถึงแท่งขุดเจาะน้ำมันที่มีวิศวกรใส่หมวกสีเหลืองตากแดดสู้ลมโหมพายุกันอยู่กลางทะเล ในขณะที่ความจริงแล้วถ้าให้อธิบายแบบใกล้ตัวเราที่สุดก็คือการผลิต เม็ดพลาสติก ซึ่งบริษัท GC ถือเป็นบริษัทที่ทำงานในด้านการผลิตเม็ดพลาสติกเหล่านี้ออกมา โดยมีมิชชั่นว่า ‘ Chemistry for better living ’ หรือ ‘เคมีที่เข้าถึงทุกความสุข’ จึงได้สร้างโครงการ ‘Upcycling the Oceans, Thailand’ ที่มีการร่วมมือของ 3 องค์กร คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (จีซี) และมูลนิธิ Ecoalf จากสเปนขึ้นมา มีเป้าหมายเพื่อจัดการขยะในทะเลของไทย อนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล และใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างคุ้มค่า เพื่อนำไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบด้วยนวัตกรรมแล้วนำมาออกแบบเป็นเสื้อผ้าที่มีคุณภาพและมีมูลค่าที่สูงขึ้น 


ลดปัญหาขยะและสร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงมีวิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะกันหลากหลายวิธี อย่างการใช้ถุงผ้าเพื่อทดแทนถุงพลาสติกหรือพกกระบอกน้ำเพื่อทดแทนขวดน้ำแต่นั่นก็เป็นเพียงวิธีการแก้ปัญหาวิธีหนึ่งเท่านั้น เพราะขยะส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้น เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า package หรือบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเจ้าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลยว่ามันอาจจะทำให้เกิดเป็นขยะกองโตในเวลาต่อมา และนี่ก็เป็นปัญหาที่ รีฟิล สเตชั่น มองเห็นและต้องการที่จะหาวิธีมายับยั้งขยะเหล่านี้ให้ลดน้อยลงโดยการนำสินค้าขายส่งมาให้คนที่นำบรรจุภัณฑ์เดิมซื้อมาเติมในปริมาณเท่าเดิมแต่ได้ราคาที่ถูกลง แถมยังสามารถช่วยลดปัญหาขยะได้อีกด้วย อีกทั้งยังต้องการสร้างคอมมูนิตี้และเป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ที่มันสามารถเกิดขึ้นได้จริง จึงได้ตั้งเป้าไว้ว่ารีฟิล สเตชั่นจะเป็นโมเดลต้นแบบของร้านค้าที่ช่วยลดปัญหาขยะและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและเชื่อว่าหากมีร้านค้าที่ร่วมมือกันต่อยอดไปหลาย ๆ แห่งอัตราการเกิดขยะก็จะลดน้อยลง

เช่นเดียวกับ คุณพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร หรือ ท็อป ศิลปินนักออกแบบ Eco Designer ที่มองว่านวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่เข้าถึงทุกคนได้ง่าย อย่างเช่น สมาร์ทโฟน หากเราสามารถนำเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมเข้ามาอยู่ในใกล้มือของทุกคนก็จะเป็นการปลูกฝังในอีกรูปแบบหนึ่งที่ง่ายที่สุด จึงได้ทำแอพพลิเคชันตัวหนึ่งที่ชื่อว่า eco life ขึ้นมา หากคุณงดรับทุกพลาสติกในห้างแล้วให้ทำการสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อรับตัวการ์ตูนที่เป็นเกมมาให้ได้เล่น นอกจากนั้นอาจได้สิทธิประโยชน์ในการรีดีมอีกด้วย ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ เช่นจำนวนการลดใช้ถุงพลาสติก หรือจำนวนคนที่ใช้ยังสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลเพื่อทำแคมเปญต่อ ๆ ไปได้อีกเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น คุณพิพัฒน์ยังสร้างแอพพลิเคชันสำหรับองค์กรที่ต้องการสร้างแรงจูงใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานขึ้นมาอีกหนึ่งตัวชื่อว่า Life ลักษณะคล้ายกับ Instagram เพียงแต่คราวนี้เราจะชวนทุกคนถ่ายรูปขณะทำสิ่งดี ๆ เพื่ออัพลง Life โดยองค์กรสามารถกำหนดได้เลยว่าอยากให้พนักงานของคุณทำอะไรตามนโยบายของบริษัท อาจจะแลกกับรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับตัวบุคคลอย่างตั๋วหนังฟรีหรือรับโบนัสเพิ่มหากคุณทำแต้มไว้สูง วิธีการนี้จะทำให้เกิด Engagement แก่พนักงานในการรักษาสิ่งแวดที่ดีและง่ายดายที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีหัวข้ออื่น ๆ ที่น่าสนใจที่ทาง SET ได้ให้เราร่วมออกแบบกันอีกเช่นหัวข้อ Vulnerable group ออกแบบโอกาสให้คนด้อยโอกาส , หัวข้อ Agriculture & Community Development ออกแบบโลกใบใหม่ และหัวข้อออกแบบวิถีชุมชน ออกแบบเกษตรยั่งยืน ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งเราสามารถดูย้อนหลังได้ทางช่องยูทูป SET Social Impact Day ได้เลย

อเล็กซ์ เรนเดล, ติ๊ก เจษฎาภรณ์, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, SET social impact