00.blog cover
24 Jan 2020 00:00

มาดูมาตรการการรับมือฝุ่น PM 2.5 ที่นานาชาติใช้จัดการฝุ่นพิษ

สถานการณ์ฝุ่นพิษคุกคามเมืองยังคงย่ำแย่ คนเมืองไม่น้อยเริ่มมีอาการเจ็บป่วยด้านระบบทางเดินหายใจ อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นไอเดียและแนวทางในการแก้ Eventpop จึงขอบอกเล่าถึงทางแก้ไขที่ทางนานาชาตินำมาปรับใช้กับปัญหาฝุ่น PM 2.5 นี้



ประเทศจีนพลิกฝุ่น PM 2.5 ให้เป็นโอกาส
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในจีนมีสาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด นำมาซึ่งปัญหามลพิษทางอากาศ ทั้งที่เกิดจากการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การขยายตัวของพลเมือง ทำให้เกิดความแออัด การจราจรติดขัด และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ของจีนที่ล้วนมีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกแทบทั้งสิ้น

เฉพาะที่ปักกิ่งแค่เมืองเดียว ทางการจีนก็เตรียมโครงการลดปัญหาหมอกควันภายใน 5 ปี ไว้มากถึง 81 โครงการ โดยมีโครงการเด่น ๆ ที่ได้ลงมือทำและเกิดผลดีทั้งในระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ ดังนี้
1.โฟกัสที่ตัวการ ลดการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ทั้งระบบ
ทางการจีนประกาศสงครามต่อสู้กับฝุ่น PM 2.5 โดยโฟกัสไปที่การลดมลพิษที่ปล่อยจากรถยนต์ในเมืองใหญ่ทั้งระบบ การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลให้ดีขึ้น การตรวจสอบการปล่อยไอเสียให้ได้ตามมาตรฐาน พร้อมกำหนดให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่วางจำหน่ายในตลาดหลังเดือนกรกฎาคม 2021 จะต้องติดตั้งเครื่องกรองฝุ่นจากดีเซล (Diesel Particulate Filters: DPF) ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการปล่อย PM 2.5 จากรถบรรทุกได้มากถึง 82% ภายในปี 2030
2.ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินชั่วคราว เพื่อลดฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า
การเปิดเครื่องปรับอากาศแบบโหมดทำความร้อน ทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกในช่วงฤดูหนาวและเบื้องหลังของพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อนในจีนก็ล้วนมาจากถ่านหินทั้งนั้น ทางการจีนมีคำสั่งปิดเหมืองถ่านหินกว่า 1,000 แห่งในปี 2016 โดยส่วนใหญ่จะเป็นเมืองขนาดเล็กและ้หมืองที่เปิดมานาน 
3.ผลักดันให้พลเมืองเปลี่ยนมาใช้ 'รถยนต์ไฟฟ้า'
ความสำเร็จที่เห็นเด่นชัดในเมืองใหญ่อย่างเซินเจิ้นที่มีการผลักดันให้ทุกภาคส่วนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งยกเครื่องรถบัสโดยสารให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEVs) ทั้งหมด ซึ่งเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ดำเนินรอยตาม ขณะที่ยานยนต์ลูกผสมอย่างรถไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEVs) ก็กำลังหายไปจากท้องถนนในจีนอย่างรวดเร็ว
และทางจีนตั้งเป้าเพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะให้ได้ 500,000 จุด ภายในปี 2020 โดยเน้นติดตั้งสถานีชาร์จฯเพิ่มตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ เพราะยิ่งมีจุดชาร์จแบตกระจายไปทั่วมากเท่าใดก็ยิ่งเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ขับขี่มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดใจผู้ใช้รถให้หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น



ประเทศเกาหลีใต้ทำสงครามกับฝุ่นพิษ PM 2.5 ทุกช่องทาง
เมื่อช่วงต้นปี 2019 ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ปกคลุมทั่วทั้งเกาหลี จนเกินค่ามาตรฐาน (75 มคก. ต่อ ลบ.ม.) ซึ่งในครั้งนี้ถึงขั้นที่รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศมาตรการฉุกเฉินทั่วประเทศเพื่อทำสงครามกับฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง
1.เริ่มต้นจากมาตรการห้ามรถยนต์ดีเซลรุ่นเก่าวิ่ง โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนในฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูที่ฝุ่นพิษหนาแน่นที่สุด และจำเป็นต้องใส่ใจคุณภาพอากาศเป็นพิเศษควบคู่ไปกับการขึ้นภาษีรถใหม่ด้วย เพื่อกระตุ้นผู้บริโภคให้เลิกใช้ถาวร
2.การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินชั่วคราวเพิ่มขึ้น ทั้งในเมืองและนอกเมืองในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากเครื่องปรับอากาศแบบโหมดทำความร้อน ต้องใช้ถ่านหินเหมือนกับของประเทศจีนทำ
3.นวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น โดรนพัฒนาโดยสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกอบไปด้วยกล้องวิดีโอและเซ็นเซอร์ที่สามารถจับและวัดปริมาณฝุ่นและก๊าซที่ผลิตจากโรงงานที่ผลิตเกินมาตรฐาน โดยทางเกาหลีมุ่งหวังใช้ในทั่วประเทศอย่างรวดเร็วที่สุด นอกจากนี้บริษัทผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของประเทศเกาหลีใต้ อย่าง KT เจ้าของโครงการ Air Map Korea ก็กำลังพัฒนานวัตกรรมเช่นกัน โดยกำหนดเป้าหมายในการใช้ AI และ IoT เสริมประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศและโรงฟอกอากาศให้เป็นเครื่องมือช่วยลดมลพิษ เมื่อระดับมลพิษสูงขึ้นหรือลดลง

ชาวยุโรปกับการรับมือฝุ่น PM 2.5 
สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในยุโรปคือ การคมนาคมทางบก การจราจรบนถนน ที่ปล่อยสารพิษ เช่น ไนไตรเจนออกไซด์ รวมทั้งฝุ่นจิ๋ว (PM) สาเหตุรองลงมาคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตร การผลิตพลังงาน ภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน



1.แก้ปัญหามลภาวะในกรุงลอนดอน มุ่งไปที่การคมนาคมในเมือง
กรุงลอนดอนมุ่งมั่นในการเพิ่มจำนวนการใช้รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และปรากฏข้อมูลว่าในช่วงสิ้นปี 2560 กรุงลอนดอนกลายเป็นเมืองที่มีรถประจำทางไฟฟ้ามากที่สุดในยุโรป และได้มีแผนงานว่าจะแปรสภาพรถประจำทางชั้นเดียวให้เป็นรถประจำทางพลังงานไฟฟ้าให้ได้จำนวน 300 คัน ภายในสิ้นปี 2563 เป็นอย่างช้า และจะแปลงรถประจำทาง 2 ชั้นทั่วทั้งกรุงลอนดอนให้กลายเป็นรถประจำทางพลังงานไฮบริด (พลังงานผสมระหว่างน้ำมันและไฟฟ้า) แถมรณรงค์ให้หันมาปั่นจักรยานได้ถึงร้อยละ 70



2.เยอรมนีขึ้นรถสาธารณะฟรี หวังลดฝุ่นพิษ
ที่เยอรมนีไม่ใช่แค่ให้ประชาชนขึ้นรถสาธารณะฟรีในวันที่มีฝุ่นควันเกินค่ามาตรฐานเท่านั้น ยังมีการพิจารณาให้ประชาชนได้ใช้ฟรีตลอดไปอีกต่างหากเป็นการหันหลังให้กับรถยนต์ส่วนตัวแล้วมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากที่สุด โดยมีเมืองนำร่องไปถึง 5 เมืองด้วยกัน คือ Bonn, Herrenberg, Reutilngen, Essen และ Mannheim อีกทั้งการสนับสนุนให้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจังเหมือนอีกหลายประเทศ โดยในปี 2558 ที่ผ่านมามีการสร้างจุดชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถพลังงานไฟฟ้ามากกว่า 400 จุด และมีการตั้งจุดสำหรับเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนให้กับรถยนต์อีก 4 จุด 

ขอบคุณข้อมูล : salika.com

ดังนั้น ถ้าประเทศไทยสามารถปรับภูมิทัศน์ อย่างน้อยแค่สักถนนเส้นเดียวให้เอื้อต่อการใช้รถยนต์ทางเลือก จักรยาน หรือรถโดยสารประจำทางและขนส่งสาธารณะ ย่อมเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยสร้างมิติใหม่ให้กับการลดฝุ่นพิษในประเทศและในเมืองใหญ่อย่างได้ผล

#Reducepm25 #PM25 #InternationPM25