เพศทางเลือก หรือ กลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ที่หลากหลาย รู้จักกันในชื่ออักษรย่อว่า LGBTQ+ ไม่ว่าจะเป็น เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล เควียร์ (Lesbian, Gay, Bisexual, Queer) และอีกมากมายตามแต่พวกเขาจะนิยามตัวเอง ในอดีตกลุ่มเพศทางเลือกชายรักชาย และหญิงรักหญิงไม่เป็นที่ยอมรับถูกกีดกันให้เป็นคนชายขอบในสังคม พวกเขาต่างก็ต้องหลบซ่อนตัวตน และแม้แต่ถูกสังคมลงโทษอย่างหนักจนอาจถึงแก่ชีวิตเพียงเพราะไม่ได้มีเพศวิถี (Sexual Orientation) ตามแบบที่สังคมคาดหวัง
วันนี้ Eventpop พาทุกคนย้อนเส้นทางไปรู้จักกับ 4 ไอคอนนักต่อสู้คนสำคัญในประวัติศาสตร์ LGBTQ+ ผู้โอบกอดความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศ และเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับโลกใบนี้
อลัน ทัวริง “บิดาแห่งคอมพิวเตอร์” หากไม่มีเขาคนนี้สงครามโลกครั้งที่ 2 คงจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากจนยากจะจินตนาการได้ เพราะเขาคือสุดยอดนักคณิตศาสตร์คนสำคัญชาวอังกฤษที่สามารถสร้างเครื่องถอดรหัสสื่อสารลับของนาซีและส่งสารนี้ให้แก่ทางการเพื่อหยุดแผนการร้ายของนาซี นอกจากนี้เครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ตโฟนที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ก็มีต้นแบบมาจากทฤษฎีเครื่อง Enigma ของเขานั่นเอง
แม้ว่าเขาจะได้สร้างคุณูปการให้กับโลกใบนี้อย่างมหาศาล เขากลับถูกจับในข้อหารักร่วมเพศ และในปี 2013 อลัน ทัวริว ได้รับอภัยโทษจากทางการสหราชอาณาจักรหลังเสียชีวิตไปกว่าเกือบ 60 ปี และรัฐบาลยังได้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายให้มีการลบล้างโทษให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกันคนอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน กฎหมายนี้มีชื่อว่า “กฎหมายอลัน ทัวริง” (Alan Turing’s law)
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาว LGBTQ+ ถูกข่มเหงจากผู้มีอำนาจ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขายืนหยัดต่อสู้กับการเหยียดเพศ และสีผิวที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกา ด้วยเหตุนี้เอง มาร์ชา จอห์นสัน ได้นำทีมเคลื่อนไหวเพื่อจุดประกายให้เยาวชนลุกขึ้นมาเดินขบวนประกาศจุดยืน เธอเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกของสมาคมปลดแอกเกย์ (Gay Liberation Front) และร่วมก่อตั้งกลุ่มขับเคลื่อน Street Transvestite Action Revolutionaries หรือ STAR ร่วมกับซิลเวีย ริเวอรา เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ที่หลงใหลในการแต่งตัวตรงข้ามเพศสภาพของตน และค่อย ๆ พัฒนามาเป็น Pride Parade ในเดือนมิถุนายน ที่แพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก
กิลเบิร์ต เบเกอร์ นักออกแบบชาวอเมริกา ผู้ออกแบบธงสีรุ้งที่ปลิวไสวสวยงามอันเป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของกลุ่ม LGBTQ+ ในปี 1994 และธงนี้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมของพวกเขาเรื่อยมา จนกระทั่งถูกแบรนด์แฟชั่นชือดังมากมายหยิบยืมธงสีรุ้งไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบสินค้า เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุน LGBTQ+
กิลเบิร์ตได้แรงบันดาลใจธงสีรุ้งมาจากรุ้งกินน้ำที่เขาเห็นบนท้องฟ้า เขายังได้นิยามธงสีรุ้งว่าเป็นสีที่โดดเด่นเห็นได้ชัด เปรียบได้ดั่งภารกิจของเกย์อย่างพวกเราที่จะต้องเบ่งบาน และเฉิดฉาย อย่าโกหกปิดบัง จงแสดงออกมาว่า “นี่แหละคือตัวฉัน!”