Eventpop story feature
14 Mar 2019 18:30

รู้หรือไม่ 59% ของเด็กไทย เคยเป็นส่วนหนึ่งใน Cyberbullying

Cyberbullying (ไซเบอร์บูลลีอิ้ง) หรือการรังแกผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งอาจทำผู้ที่ถูกรังแกเสียสุขภาพจิตจนอาจยกระดับเป็นโรคซึมเศร้า ทำร้ายตนเอง และฆ่าตัวตายได้

โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รองประธานโครงการเกมสมดุล...ชีวิตสมดุล (HealthyGamer) ได้อธิบายความหมายของ Cyberbullying ไว้ว่า “เป็นการกลั่นแกล้งกันอย่างรุนแรงในโลกไซเบอร์ มักพบในกลุ่มเด็กวัยเรียนในโรงเรียน มหาวิทยาลัยเดียวกันโดยมีเจตนาต้องการแกล้งให้เพื่อนอับอาย เสียหน้าเสียชื่อเสียง เสียเพื่อน ไม่ได้รับการยอมรับ ถูกอัปเปหิออกจากกลุ่ม”


จากสถิติของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เผยสถิติเรื่องนี้ไว้ว่า 

75% คืออัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของกลุ่มที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตมากที่สุดคือ เด็กและเยาวชน อายุ 5-28 ปี และใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดถึงเกือบ 8 ชม.ต่อวัน

80 % เด็กและเยาวชนไทยเจอภัยคุกคาม ล่อลวงและการกลั่นแกล้งจากโรงเรียนและบนโลกอินเตอร์เน็ตเป็นอันดับต้นๆของเอเชีย

28% ของเด็กไทยมองว่า Cyberbullying เป็นเรื่องปกติ

39% ของเด็กไทยมองว่า Cyberbullying เป็นเรื่องสนุก

และ 59% ของเด็กไทยบอกว่า "เคยเป็นส่วนหนึ่งใน Cyberbullying"

จากกรณีที่เพิ่งผ่านมาอย่างสดๆร้อนๆของน้องไข่มุก จากวง BNK48 ที่ถูกชาวเน็ตต่างพากันวิจารณ์ต่างๆนานาในหลายครั้ง  และครั้งนี้น้องไข่มุกได้ลุกขึ้นมาสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ตนเอง  ทำให้หลายคนนั้นต่างพากันให้กำลังใจยกใหญ่ วันนี้ทาง eventpop จึงต้องนำเรื่องราวดีๆมาฝากกัน เผื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของโลกอินเตอร์เน็ต


Cyberbullying เป็นการกลั่นแกล้งกันแบบไหน ?

การกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์ สามารถแตกประเด็นออกไปได้ 6 รูปแบบ ดังนี้


1. ทำให้อับอาย สร้างความเสียหายต่อผู้ถูกกระทำ

         
โดยส่วนมากจะเป็นการแกล้งที่มีจุดประสงค์สร้างความอับอายและความเสียหายต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ด่าทอ พูดจาส่อเสียด ให้ร้าย ผ่านช่องทางการสนทนา หรือโพสต์อย่างโจ่งแจ้งที่หน้าโซเชียลมีเดียของผู้ถูกกระทำ เช่น แชทเฟซบุ๊กหรือไลน์มาต่อว่า ใช้ถ้อยคำในทางลบ โดยมีจุดประสงค์จะกุข่าวโคมลอย เรื่องที่ไม่เป็นความจริงให้เกิดกระแสพูดต่อ ๆ กันไป


2. แฉด้วยคลิป

โดยเป็นคลิปอนาจาร หรือคลิปที่เหยื่อถูกรุมทำร้าย รุมแกล้ง แล้วนำคลิปไปโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดคอมเมนต์เสีย ๆ หาย ๆ ต่อเหยื่อ


3. การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น

โดยเฉพาะกรณีเปิดเผยรหัสผ่านของโซเชียลให้ผู้อื่นรู้ ยกตัวอย่างเช่น ให้เพื่อนสมัครเฟซบุ๊กหรือไลน์ให้ เคสนี้ก็อาจโดนรังแกด้วยการถูกสวมรอยใช้เฟซบุ๊กของตัวเองโพสต์ข้อความหยาบคาย ให้ร้ายบุคคลอื่น โพสต์รูปโป๊ คลิปวิดีโอลามก หรือสร้างความเสียหายในรูปแบบต่าง ๆ


4. การ Blackmail จากผู้อื่น         

Blackmail คือ การนำความลับหรือภาพลับของเพื่อนมาเปิดเผยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ มีการแชร์ต่อกันไปอย่างกว้างขวาง เช่น ตัดต่อรูปภาพน่าเกลียด ๆ หรือการแอบถ่ายภาพหลุดที่น่าขำมาโพสต์ประจานบนโลกออนไลน์ และแสดงความคิดเห็นอย่างสนุกสนาน โดยบางครั้งก็อาจจะถึงขั้นเป็นการคุกคามทางเพศ หรือถ่ายภาพโป๊เปลือยมาลงอินเตอร์เน็ต


5. การหลอกลวง

มีทั้งการหลอกลวงให้หลงเชื่อ ให้ออกมานัดเจอเพื่อทำมิดีมิร้าย หรือการหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินไปให้ด้วยวิธีการต่าง ๆ  และนับวันการหลอกลวงนั้นอาจมีหลายรูปแบบ เช่น การหลอกให้ใส่รหัสผ่านเพื่อหลอกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางเสียหาย 


6. การสร้างกลุ่มในโซเชียลมีเดียเพื่อโจมตีโดยเฉพาะ

อย่างที่เราเห็นคนตั้งเพจแอนตี้ โจมตีบุคคลหนึ่งขึ้นมา มีการจับผิดทุกอิริยาบถ แล้วนำมาถกประเด็นให้เกิดความเสียหายต่อคนที่ตัวเองไม่ชอบ หรืออาจมีการโน้มน้าวให้คนอื่นรู้สึกรังเกียจ และกีดกันให้ออกจากกลุ่ม จากสังคมที่อยู่ บางครั้งเลยเถิดถึงขนาดไล่ให้เขาไปตาย หรือยุให้ฆ่าตัวตาย



บางครั้งเราอาจจะไม่เคยรู้เลยว่าเรานั้นคือหนึ่งในการฆาตกรรมผู้อื่น แม้เพียงการแสดงความคิด  ซึ่งถ้าไม่อยากให้เราตกอยู่ในด้านมืดของโลกไซเบอร์ซักวัน การใช้อินเตอร์เน็ตควรระมัดระวังและใส่ใจให้มาก โดยคิดเสมอว่า หากเราถูกตกเป็นเหยื่อของโลกไซเบอร์ซักวันเราจะอยากให้ผู้อื่นพูดถึงเราอย่างไร ให้กำลังใจ หรือการซ้ำเติม ?


Facebook, cyberbully